วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ความเปลี่ยนแปลงจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ความก้าวหน้าของอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อสนองความต้องการด้านต่างๆ ของผู้ใช้ในปัจจุบันซึ่งมีผู้ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั่วโลกประมาณพันล้านคน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ผู้ใช้สามารถใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวได้ทุกที่ ทุกเวลา จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ทั้งที่เกิดประโยชน์และโทษ เช่น
1) ด้านสังคม สภาพเหมือนจริง การใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงการทำงานต่างๆ จนเกิดเป็นสังคมที่ติดต่อผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือที่รู้จักกันว่า ไวเบอร์สเปซ (cyber space) ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การพูดคุย การซื้อสินค้า และการบริการ การทำงานผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทำให้เกิดสภาพที่เหมือนจริง (virtual) เช่น เกมเสมือนจริง ห้องสมุดเสมือนจริง พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ห้องประชุมเสมือนจริง และที่ทำงานเสมือนจริง ซึ่งทำไห้ลดเวลาในการเดินทางและสามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา ตัวอย่างภาพเสมือนจริง ดังรูปที่ 1.31
สำหรับเกมเสมือนจริง อาจสร้างปัญหาให้กับผู้ใช้ที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างเกมหรือชีวิตจริง อาจใช้ความรุนแรงเลียนแบบเกม และเกิดปัญหาอาชญากรรมตามที่เป็นข่าวในสังคมปัจจุบัน
รูปที่ 1.31 ตัวอย่างภาพเสมือนจริง
การใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Cash) การใช้เงินตราจะเริ่มเปลี่ยนรูปแบบเป็นการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้พกเงินสดน้อยลง เพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้าและการบริการต่างๆ ด้วยบัตรที่มีลักษณะเป็นบัตรสมาร์ต หรือสมาร์ตการ์ด (smart card) ดังรูปที่ 1.32 ซึ่งบัตรใบเดียวสามารถใช้ได้กับธุรกรรมหลายประเภท ตั้งแต่เป็นบัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับขี่ บัตรประจำตัวพนักงานหรือบัตรประจำตัวนักเรียน นักศึกษา บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต ตลอดจนบัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และร้านอาหารต่างๆ
เนื่องจากพฤติกรรมการใช้เงินที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกจัดเก็บไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น อาจมีผู้ประสงค์ร้ายลักลอบนำข้อมูล เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ และรหัสที่ใช้ในการถอนเงิน ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ในทางที่ผิด เช่น ลักลอบเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลบัญชีเงินฝากของธนาคาร เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีของตนเอง การโทรศัพท์มาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร หลอกให้ทำการโอนเงินจากบัญชีออกไปให้โดยบอกว่าจะทำการคืนเงินภาษีทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างการก่ออาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังรูปที่ 1.33
รูปที่ 1.33 ตัวอย่างการก่ออาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
บริการนำเสนอแบบตามคำขอหรือออนดีมานด์ (on demand) เป็นการเข้าถึงข้อมูลตามความต้องการของผู้ใช้ได้ตลอดเวลา เช่น การเลือกชมรายการโทรทัศน์ หรือฟังรายการวิทยุย้อนหลังได้ทางเว็บไซด์ แทนการติดตามดูรายการโทรทัศน์ หรือฟังรายการวิทยุ ตามตารางที่ทางสถานีกำหนดไว้ล่วงหน้า
การศึกษาออนดีมานด์ (education on demand) เป็นการเปิดเว็บไซต์ของสถาบันการศึกษา ณ ที่ใด เวลา ใดก็ได้ แล้วเลือกวิชาเรียนบทเรียนได้ ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของอีเลิร์นนิง (e-Learning) ตัวอย่างของการนำเสนอรายการโทรทัศน์แบบออนดีมานด์ ดังรูป 1.34
การได้รับเทคโนโลยีมากเกินไป (technology overlord) การพัฒนาของเทคโนโลยีเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยมีรูปแบบที่หลากหลาย ทำให้น่าสนใจ และสะดวกในการเข้าถึง สิ่งเหล่านี้เป็นแรงดึงดูดให้บุคคลเกิดความลุ่มหลงจนเกิดเป็นอาการติดเทคโนโลยี เช่น ติดการใช้โทรศัพท์มือถือ การถ่ายคลิป การเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ต การส่งข้อความออนไลน์ การใช้อีเมล์ รูป 1.35 ผู้ติดเทคโนโลยี
รูป 1.34การนำเสนอรายการโทรทัศน์แบบออนดีมานด์
เล่นเกมออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ รวมถึงการทำลายสัมพันธภาพทางสังคม เช่น ครอบครัว กลุ่มเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานได้ ผู้ติดเทคโนโลยีมีอาการในลักษณะเดียวกับผู้ติดสิ่งเสพติดอย่างการพนัน สุรา หรือยาเสพติด ดังรูป 1.35 เริ่มต้นจากการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพิ่มระดับการใช้งานเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จนถึงในภาวะที่ไม่สามารถหยุดการใช้งานได้ เกิดความรู้สึกกระวนกระวายใจเมื่อลืมโทรศัพท์มือถือหรืออยู่ในสถานที่ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้ ถึงแม้จะตระหนักถึงผลที่ตามมาเป็นอย่างดีก็ตาม ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรเอาใจใส่ ติดตามเทคโนโลยีให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ส่งเสริมให้มีการใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ แทนการใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไป
2) ด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารส่งผลให้เกิดสังคมโลกาภิวัฒน์(globalization) เพราะสามารถชมข่าว ชมรายการโทรทัศน์ที่จะส่งกระจายผ่านดาวเทียมของประเทศต่างๆ ได้ทั่วโลก สามารถรับรู้ข่าวสารได้ทันที ใช้อินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ระบบเศรษฐกิจซึ่งแต่เดิมมีขอบเขตจำกัดภายในประเทศ ก็กระจายเป็นเศรษฐกิจโลก เกิดกระแสการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกจึงเชื่อมโยงและผูกพันกันมากขึ้น ดังรูปที่ 1.36
รูปที่ 1.36 ระบบเศรษฐกิจของโลกที่ผูกพันกันทุกประเทศ
3) ด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีประโยชน์ในด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม หรือภาพถ่ายทางอากาศร่วมกับการจดเก็บรักษาข้อมูลระดับน้ำทะเล ความสูงของคลื่นจากระบบเรดาร์ เป็นการศึกษาเพื่อหาสาเหตุ และนำข้อมูลมาวางแผนและสร้างระบบเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแต่ละแห่งได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบผสม (hybrid engine) เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมก็ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมให้เครื่องยนต์ลดการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการช่วยลดมลภาวะจากก๊าซ-ไนโตรเจนออกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน และก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ตัวอย่างเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารช่วยรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดังรูปที่ 1.37
รูปที่ 1.37 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารช่วยรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขยะ อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ จอภาพ คีย์บอร์ด เมาส์ เครื่องพิมพ์ ที่เสียหรือไม่ใช้งานแล้ว รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งต่างจากขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก และเศษอาหาร โดยในขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นหนึ่งๆ มีส่วนประกอบที่เป็นโลหะและพลาสติก รวมถึงวัสดุอื่นๆ ที่ประกอบกันอย่างซับซ้อน ยากต่อการแยกออกมา โดยเฉพาะในแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีรายงานพบว่าขยะเหล่านี้นอกจากจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังปลดปล่อยสารพิษปะปนเข้าสู่สิ่งแวดล้อม การแยกชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วนำกลับมาหลอมใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล จึงทำได้ยากมากกว่าขยะทั่วไป เพราะต้องมีขั้นตอนวิธีที่เหมาะสม จึงต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญและต้องจัดการอย่างมีระบบ ดังนั้นจึงควรใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้คุ้มค่า จะซื้อใหม่เมื่ออุปกรณ์นั้นไม่สามารถซ่อมได้แล้ว และไม่เปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บ่อยๆตามกระแสนิยม ตัวอย่างขยะอิเล็กทรอนิกส์ ดังรูปที่ 1.38
รูปที่ 1.38 ขยะอิเล็กทรอนิกส์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น